ปี 65 อ่วม ผู้ประกอบการร้านอาหารแบกรับต้นทุนเพิ่ม 12% จี้รัฐดูแลราคาสินค้า

เศรษฐกิจ (ในประเทศ - ต่างประเทศ)

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินผู้ประกอบการ SMEs ร้านอาหาร ต้องแบกต้นทุนจากราคาวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้นกว่า 9-12% คิดเป็นมูลค่า 2.1 – 2.7 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย (Micro) ถูกกระทบสูงสุดกว่า 3 แสนรายจากฐานรายได้ต่ำ แนะรัฐฯ ดูแลราคาสินค้าวัตถุดิบ พร้อมหนุนกำลังซื้อผู้บริโภค

โดยปี 2565 ผู้ประกอบการอาหารโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs เผชิญโจทย์ท้าทายใหญ่ด้านราคาวัตถุดิบที่ใช้ปรุงอาหารเพื่อจำหน่ายมีราคาเพิ่มขึ้นพร้อมกันหลายรายการ โดยมีการทยอยปรับขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 ส่งผลให้ผู้ประกอบการร้านอาหารต้องแบกภาระเพิ่ม ทั้งนี้ พบว่าจากผู้ประกอบการอาหารกลุ่ม SMEs ทั้งหมดจำนวน 335,758 ราย ซึ่งส่วนใหญ่มีความเปราะบางทางการเงินและขนาดรายได้ที่ไม่สูง ได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดย่อย (Micro) ที่มีสัดส่วนผู้ประกอบการสูงถึง 90.4%

ttb analytics ประเมินผลกระทบจากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนและรายได้ โดยการวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนด้วยตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Out table) และแนวโน้มราคาสินค้าที่ได้รับผลกระทบปัญหา Supply Shock รวมถึงทิศทางราคาวัตถุดิบอยู่ในระดับสูงในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 โดยพบว่าต้นทุนกลุ่ม SMEs ร้านอาหารอยู่ที่ 67.3% และมีกำไรขั้นต้นที่ 32.8% ทั้งนี้ ปัญหาราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาทำให้ต้นทุนการขายเพิ่มสูงขึ้นเป็น 76.0 – 78.6% ส่งผลให้กำไรลดลงเหลือเพียง 21.2% – 23.9% กลุ่มผู้ประกอบการขนาดย่อยที่มีฐานรายได้ไม่สูงเริ่มได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนและมีความจำเป็นต้องขึ้นราคาค่าสินค้าอาหาร เพื่อรักษาระดับกำไรให้มีความใกล้เคียงกับภาวะก่อนเกิดวิกฤตต้นทุนค่าสินค้าแพงในยุคปัจจุบัน

ทั้งนี้ รายได้ประมาณการของผู้ประกอบการ SMEs ร้านอาหารปี 2565 อยู่ที่ 2.35 แสนล้านบาท โดย ttb analytics ประเมินว่าต้นทุนที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับเพิ่มขึ้นราว 2.1-2.70 หมื่นล้านบาทต่อปี ทำให้กำไรลดลง โดยข้อมูลจาก สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) พบว่า กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยมีมากถึง 303,490 ราย เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบชัดเจนที่สุดจากฐานรายได้ที่ไม่สูงด้วยค่าเฉลี่ยราว 41,500 บาทต่อเดือน เมื่อต้องเผชิญกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทำให้กำไรอาจไม่เพียงพอกับค่าครองชีพ ส่งผลให้ผู้ประกอบการรายย่อยอาจต้องทยอยเริ่มปรับราคาสินค้าเพื่อรองรับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มเติมภาระให้กับภาคประชาชนที่ยังคงไม่ฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 ในหลายระลอกที่ผ่านมา รวมถึงกลุ่มผู้บริโภครายได้น้อยที่ต้องถูกลดทอนกำลังซื้อลงจากปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น

สำหรับแนวทางเพื่อรับมือภาวะต้นทุนแพง ที่ภาครัฐสามารถเข้าไปช่วยดูแลช่วยเหลือ SMEs ได้แก่

1.โครงการช่วยเหลือของภาครัฐที่ตอบโจทย์ปัญหา โดยสามารถเร่งรัดโครงการช่วยเหลือไปยังกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น นโยบายคนละครึ่งเฟส 4 เนื่องจากเงินอุดหนุนในโครงการนี้ นอกจากเป็นการช่วยภาระค่าใช้จ่ายภาคประชาชนแล้ว ยังสามารถส่งผ่านไปยังผู้ประกอบการได้โดยตรง

2.นโยบายดูแลควบคุมราคาสินค้าวัตถุดิบให้สอดคล้องกับอุปสงค์และอุปทานของตลาด ภาครัฐอาจขอความร่วมมือผู้ประกอบการรายกลางและรายใหญ่ในการตรึงราคาชั่วคราว เนื่องจากผู้ประกอบการสองกลุ่มดังกล่าวมีฐานรายได้ที่สูงจึงยังสร้างกำไรสุทธิที่เพียงพอสำหรับกิจการ รวมถึงรัฐควรมีนโยบายเพื่อจัดการปัญหาต้นทุนแพงเพื่อรองรับสถานการณ์หลังเม็ดเงินจากนโยบายช่วยเหลือหมดลง เช่น การตรึงราคาวัตถุดิบอื่นที่ไม่มีปัญหาเรื่องอุปทานสินค้า เช่น ข้าวสาร ไข่ไก่ หรือ เครื่องปรุงแต่งอาหาร นอกจากนี้ การรณรงค์การบริโภคกลุ่มเนื้อสัตว์ที่มีระยะเลี้ยงสั้น เพื่อเป็นสินค้าทดแทนในช่วงการขึ้นของราคาวัตถุดิบ

3. การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล ผู้บริโภคควรเริ่มจัดการบริหารค่าใช้จ่ายให้มากขึ้น เช่น ครอบครัวใหญ่อาจเริ่มหันมาประกอบอาหารเองเพื่อลดต้นทุน รวมถึง เลือกใช้วัตถุดิบทดแทนที่ราคายังไม่ปรับตัวสูง เพื่อเป็นการลดรายจ่าย ส่วนผู้ประกอบการสามารถปรับลดสัดส่วนวัตถุดิบราคาแพง แล้วหันไปใช้วัตถุดิบทดแทนเพิ่มขึ้น เพื่อลดต้นทุนเฉลี่ย ซึ่งหากมีการเลือกใช้วัตถุดิบทดแทน อาจทำให้สินค้าที่ปรับราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในขณะนี้ มีแนวโน้มปรับขึ้นช้าลงหรืออาจปรับลดในระยะเวลาอันใกล้นี้ที่สั้นลง

อ้างอิง
https://siamrath.co.th