ดอกเบี้ยขาขึ้น คนไทยผ่อนค่าบ้านเพิ่ม 5 พัน จับตา กนง.ประชุมพรุ่งนี้

เศรษฐกิจ (ในประเทศ - ต่างประเทศ)

แนวโน้มดอกเบี้ยโลกที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ภายหลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณการทำนโยบายการเงินตึงตัว โดยการปรับลดการเข้าซื้อพันธบัตรผ่านมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) รวมถึงการส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและเดินหน้าลดงบดุล ซึ่งตลาดมีการคาดการณ์ว่าเฟดจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 จากสัญญาณดอกเบี้ยขาขึ้นได้ส่งผลต่อการดำเนินนโยบายการเงินของไทย โดยในวันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แม้ว่าตลาดมีการคาดการณ์ว่า กนง.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50% ต่อปี แม้ว่ายังเผชิญแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นจากราคาพลังงานและอาหารสด

แต่จะเห็นว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาสื่อสารว่าไทยยังไม่มีความจำเป็นต้องเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามโลก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังต้องการแรงสนับสนุนการฟื้นตัว และสัญญาณอัตราเงินเฟ้อแม้จะเร่งขึ้นแต่ยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ระดับ 1-3% ยังไม่ได้น่าเป็นกังวล

อย่างไรก็ดี แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยจะยังไม่ได้ปรับขึ้นภายในเร็ว ๆ นี้ แต่จากสัญญาณอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นจะส่งผ่านผลกระทบต่อตลาดได้ หากดูในแง่ผู้บริโภค-ผู้กู้เงิน ถือเป็นการส่งสัญญาณรับดอกเบี้ยเงินกู้และภาระผ่อนชำระหนี้จะเพิ่มขึ้นตามมา รวมถึงผู้ฝากเงินก็จะได้รับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ดอกเบี้ย “บ้าน-ธุรกิจ SMEs” จ่อขยับ
นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยไทยจะไม่ได้ขึ้นในปีนี้ โดยมองว่า กนง.พยายามยืนดอกเบี้ยต่ำให้นานที่สุด เนื่องจากต้องการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ

แต่กรณีที่ กนง.มีการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย และธนาคารพาณิชย์ขยับอัตราดอกเบี้ยตามทั้งกระดาน โดยสินเชื่อที่จะมีผลกระทบต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะเป็นกลุ่มสินเชื่อที่ลิงก์กับดอกเบี้ยตระกูล M เช่น ดอกเบี้ยรายย่อยชั้นดี (MRR) ดอกเบี้ยรายใหญ่ชั้นดี (MLR) และดอกเบี้ยวงเงินเกินบัญชี (MOR) ซึ่งจะขยับตามดอกเบี้ยนโยบาย

ทั้งนี้ หากดูไส้ในสินเชื่อที่มีการอ้างอิงและผูกโยงกับดอกเบี้ย MRR, MLR, และ MOR ที่อัตราดอกเบี้ยจะปรับขึ้นตาม จะเป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่อ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ย MLR และสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ไม่ได้อยู่ในโครงการสินเชื่อของภาครัฐที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที เช่น สินเชื่อฟื้นฟู เป็นต้น

ขณะที่สินเชื่อรายย่อยประเภทอื่นจะไม่ถูกระทบ เนื่องจากเป็นสินเชื่อที่ถูกกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยไว้ เช่น บัตรเครดิต ดอกเบี้ย 16% สินเชื่อส่วนบุคคล 25% และจำนำทะเบียนรถดอกเบี้ย 24%

ส่วนอีกกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบทางอ้อมผ่านต้นทุนการเงิน ผ่านการระดมทุนของสถาบันการเงินปรับเพิ่มขึ้น และสภาพการแข่งขันในตลาด เช่น สินเชื่อเช่าซื้อ ซึ่งเป็นสินเชื่อที่ไม่ได้อิงหรือผูกกับอัตราดอกเบี้ย MRR, MLR และ MOR ขณะอีกกลุ่มที่อาจจะขยับตามขึ้นเล็กน้อย

เช่น กลุ่มที่คิดดอกเบี้ยตามความเสี่ยง เช่น สินเชื่อแบ่งชำระ ที่มีการคิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงลูกค้า และมีเพดานกำหนดไม่เกิน 25% แต่ลูกค้าที่มีประวัติชำระดีได้รับดอกเบี้ยต่ำ เช่น เงินเดือน 1 แสนบาทต่อเดือน อัตราดอกเบี้ย 10% หากดอกเบี้ยขยับขึ้น 0.25% ลูกค้าอาจถูกคิดดอกเบี้ยเป็น 10.25% เป็นต้น

ลูกหนี้บ้านแบกค่าผ่อนเพิ่ม 4,800 บาทต่อปี
นางสาวกาญจนากล่าวต่อไปว่า หากดูผลกระทบต่อภาระค่างวดที่ปรับเพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่ขยับเพิ่มขึ้นนั้น กรณีสินเชื่อที่อยู่อาศัย ลูกค้ารายเดิมจะได้รับผลกระทบหลังจากพ้นช่วง teaser rate หรือช่วงอัตราดอกเบี้ยคงที (fixed rate) ในช่วง 3 ปีแรก และดอกเบี้ยปรับเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว เช่น MLR-XX% ซึ่งหากดอกเบี้ยขึ้น 0.25% ก็จะทำให้โดยเฉลี่ยแล้วผู้กู้มีภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นประมาณ 2,400-4,800 บาทต่อปี ในกลุ่มราคาบ้าน 1.5-3 ล้านบาท โดยปัจจุบัน 6 ธนาคารใหญ่ อัตราดอกเบี้ย MLR เฉลี่ยอยู่ที่ 5.4875%

“ลูกค้าที่จะกระทบจากดอกเบี้ยกระดานขยับ จะเป็นลูกค้าที่ผ่อนชำระบ้านเข้าในช่วงปีที่ 4 เพราะในช่วง 3 ปีแรกจะเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่จึงยังไม่ได้รับผลกระทบ ส่วนรายใหม่ก็จะได้ดอกเบี้ยสูงจากเดิม”

ธอส.หวั่นลูกค้า 35% ถูกกระทบ
ก่อนหน้านี้นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ในปี 2565 เป็นปีที่มีแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น จากการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และส่งผลให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นด้วย

แม้ว่าในช่วงแรกจะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ก่อน แต่ระยะต่อไปจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบติดกัน 2-3 ครั้ง ซึ่งจะทำให้ธนาคารมีการปรับเงินงวดในรอบกว่า 10 ปี โดยคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อลูกค้าในพอร์ตสินเชื่อกว่า 35% จากจำนวนทั้งหมด 1.4 ล้านล้านบาท

“ลูกค้าจำนวน 35% ในพอร์ตสินเชื่อดังกล่าว แบ่งเป็นผู้มีรายได้ประจำ และอาชีพอิสระ ซึ่งกลุ่มมีรายได้ประจำคาดว่ายังมีความสามารถในการชำระหนี้ต่อไปได้ แต่กลุ่มที่น่ากังวลคืออาชีพอิสระ เนื่องจากจะต้องจ่ายเงินงวดที่เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าหากมีการปรับดอกเบี้ยบ้านขึ้น 0.25% จะทำให้ทุก ๆ เงินกู้จำนวน 1 ล้านบาท มีการจ่ายเงินงวดเพิ่มขึ้นในอัตรา 500 บาทต่องวด”

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance